จากตลาดยาว/ตลาดคลองทา..สู่ตลาดหัวอิฐ

ธ.ค. 01

จากตลาดยาว/ตลาดคลองทา..สู่ตลาดหัวอิฐ

ได้มีผู้รู้เกี่ยวกับเมืองคอนในอดีตท่านหนึ่งคือคุณอนันต์ สิงหโกวินท์ เป็นชาวเมืองคอนโดยกำเหนิดตั้งแต่ 4มกราคม 2485 ครอบครัวของท่านตั้งบ้านเรือนอยูใกล้”สะพานราเมศวร์ “หรือ”สะพานอำเภอเมือง”ที่เป็นชื่อมาตั้งแต่อดีตโดยท่านได้ใช้ชีวิตในเยาว์วัยที่เมืองคอนตั้งแต่เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนที่โรงเรียนคริสเตียน ในบริเวณโบสถ์ “เบธเลเฮม”ชื่อ“โรงเรียนศรีธรรมราช วิทยาและต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนศรีธรรมราชศึกษาและย้ายสถานที่ไปอยู่ ณ.สถานที่ปัจจุบัน และจบชั้นม.6 ที่โรงเรียนนี้แต่ย้ายไปอยู่นอกเมืองในเวลาต่อมา ท่านมีความประสงค์ที่จะบันทึก บอกกล่าวเล่าเรืองราวเกี่ยวกับสภาพ”เมืองคอน”จากประสพการต่างๆ โดยผ่านทางคุณศรีโรจน์ อนุตรเศาษฐ์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเมืองคอนทราบจากประสพการณ์ตรง

อนึ่ง สำหรับการก่อเกิดตลาดหัวอิฐ จากข้อมูลต่างๆ มันเกิดมาจากสถานที่หลายๆฝ่ายถึงมารวมกันเป็นตลาดหัวอิฐ ปัจจุบัน”ตลาดหัวอิฐ”เป็นแหล่งค้าขายหลายรูปแบบ เช่นที่ค้าผัก ค้าปลา(ย้ายมาจากตลาดท่าตีน) ค้าผลไม้ ค้าทั่วไปหรือจับฉ่าย มันมีตลาดหนึ่งที่มีชื่อคือ”ตลาดแสงอรุณ”แต่ปัจจุบันอาจเป็นที่อาคารพาณิชย์ “โก้พงค์พ่าซ่า”ในปัจจุบัน หากท่านไดที่มีข้อมูล ช่วยกรุณาชี้แนะ จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งครับ เพื่อบ้านเราที่มีข้อมูลอย่างถูกต้องครับ

จากตลาดยาว หรือตลาดคลองทา..สู่ตลาดหัวอิฐ
ก่อนพศ.2500 บริเวณหลังโบสถ์เบ็ธเลเฮม ตลอดไปหลังวัดวังตะวันตก หลังวิกนครภาพยนต์์คือที่เรียกว่าหลังดาว มีสภาพเป็นคลองแห้งที่มีต้นสาคูขึ้นเต็มเราเรียกกันว่า ป่าสาคูในยุคก่อนหน้านั้นชุมชนยังไม่หนาแน่น ยังไม่มีปัญหาเรื่องขยะ แต่ละครัวเรือนก็หาทางจัดการกับขยะในครัวเรือนเอง เช่นขุดหลุมฝัง หรือเผาทิ้ง ต่อมาเมื่อชุมชนหนาแน่น ประชากรเพิ่มขึ้น มีปัญหาเรื่องการกำจัดขยะที่มากขึ้น ทางเทศบาลยุคนั้นที่มีคุณ จำเริญ ลิมปิชาติเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช จึงจัดให้มีรถเก็บขยะ และต้องมีพื้นที่พอสมควรที่จะรองรับขยะในทุกๆวัน แรกๆก็ใช้พื้นที่คลองแห้ง ป่าสาคูระหว่างหลังโรงหนังนครภาพยนต์(วิกดาว)กับวัดวังตะวันตก เป็นที่เทขยะ จำไม่ได้ว่าใช้เวลานานเท่าไหร่ จนขยะเต็มพื้นที่ ได้ถนนมาสายหนึ่ง คือ “ถนนจำเริญวิถี” และเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งใหม่ของเมืองคอน ที่เกิดอาคารพานิชย์สองฝั่งถนน ที่ดินย่านนั้นส่วนใหญ่เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดเสาธงทองและวัดวังตะวันตก

จากคลองแห้งป่าสาคูได้ถนนมาสายหนึ่ง เกิดย่านเศรษฐกิจสำคัญ เพิ่มทางสัญจรของยานพาหนะ พอตะวันตกดิน เกิดเป็นตลาดนัดของชาวสวน ที่นำผลิตผลจากในสวน มาวางขายริมสองฝั่งถนน ผู้คนไม่น้อยที่มาจับจ่ายซื้อผลไม้จากชาวสวน เดินกันขวักไขว่ อากาศก็ไม่ร้อน จึงเป็นที่นิยมแม้จะไม่ได้ตั้งใจมาซื้อสินค้าก็ได้มาชมตลาดนัดแห่งใหม่ วางสินค้าบนพื้นใช้ตะเกียงนำมันก๊าด และไต้(ขี้ใต้ใช้จุดไฟ)ได้ให้แสงสว่าง เป็นเสน่ห์อย่างหนึง เป็นที่นิยมของประชาชน

เมื่อทิ้งขยะจนได้ถนนเส้นหนึ่งแล้ว ก็ต้องหาที่ทิ้งขยะแห่งใหม่ จึงใช้คลองป่าต้นสาคูด้านหลังโบถส์เบ็ธเลเฮมเป็นที่ทิ้งขยะเรื่อยมาจนเต็ม แล้วเทศบาลก็นำทรายมาถมปิดกองขยะ แต่ยังไม่มีสภาพเป็นถนน รถยนต์ไม่สามรถวิ่งผ่านได้ เพราะขยะด้านล่างยังไม่แน่นเต็มที่ ต่อมาราวปีพศ.2502 จึงเกิดเป็นตลาดแบกะดินของชาวสวน อีกแห่งแต่คราวนี้เขาจะมาวางสินค้ากันตั้งแต่เช้ามืดและวางขายทั้งวัน เป็นที่รวมสินค้าด้านเกษตร มีรถจากต่างถิ่น ต่างอำเภอ และต่างจังหวัด เช่นจาก เพชรบุรี จากหลังสวน จากชุมพร และ จากภาคกลางภาคเหนือ ก็นำสินค้ามา ซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน กลายเป็นย่านที่พลุกพล่าน มีสินค้าหลากหลายขึ้น มีการสร้างแผงชั่วคราวหลังคามุงจาก สังกะสีจนโด่งดัง
ชื่อที่ชาวบ้านเรียกเป็นที่รู้กันคือ ตลาดคลองทาบ้าง ตลาดยาวบ้าง เหตุที่เรียก ตลาดยาว ก็เพราะมีสินค้าวางขายไปตามยาวถนน ทั้งที่ริมทาง และกลางถนน และดูเหมือนไม่มีใครมาเก็บเงินค่าที่ด้วยและต่อมาเทศบาลได้ก่อสร้างอาคาพาณิชย์ให้เช่า ชาวบ้านที่มีที่ดินแถวนั้นสร้างอาคารพาณิชย์เป็น อาคารคอนกรีต อย่างถาวร เซ้ง ขาย ให้เช่า
เริ่มจากสินค้าเกษตรต้นทาง สู่พ่อค้าแม่ค้าผู้นำไปกระจายสู่ตลาดต่างๆทั่วภาคใต้ ตลาดคลองทา เป็นที่รู้จักของคนเกือบทั่วประเทศว่าเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตร ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลาง เช่นพวกผักกระหลำปรีที่เมื่อก่อน นิยมปลูกกันทางภาคเหนือ เชื่อว่าเขาเหมาะกับอากาศทางภาคเหนือ มะม่วงพันธุ์ต่างๆจากทางภาคกลางและภาคใต้ตอนบน ต่อมาตลาดยาวหรือตลาดคลองทา พัฒนาไปตามธรรมชาติด้วยสินค้าหลากหลาย ทั้งเสื้อผ้า ผ้านานาชนิดที่ขายกันแบบ กองแบกะดิน เครื่องดินเผา จากทางเหนือ อิสาน และภาคกลาง จวบจนปัจจุบัน (พศ.2567) ยังเป็น ย่านที่ขาย กระถาง ต้นไม้เครื่องจักสาน อุปกรณ์ด้านเกษตร ที่คนทั่วไปรู้จักดีทั้งที่ตลาดที่เคยพลุกพล่านไปด้วยผู้คน และสินค้านานาชนิดที่กองขายกันยาวตลอดถนน (ที่ยังไม่มีสภาพเป็นถนน)

ตลาดแห่งนี้ดำรงค์สภาพนี้อยู่หลายปี กระทั่งเทศบาลต้องการก่อสร้างเป็นถนน เพื่อเชื่อมต่อจากถนนจำเริญวิถี ผู้บริหารเทศบาลชุดใหม่ จึงจัดการย้ายตลาดแห่งนี้ไป ที่สนามหน้าเมือง แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน พ่อค้าแม่ค้าถูกจำกัดด้วยกฎระเบียบ และพื้นที่รอบๆจำกัด ประกอบกับสนามหน้าเมืองอยู่ติดถนนราชดำเนิน ถนนเส้นหลักที่สำคัญของเมืองคอน ทั้งเป็นสถานที่สำหรับจัดงานพิธีต่างๆของส่วนราชการ และตั้งอยู่ตรงข้ามกับบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ต้องต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง จึงดูไม่เหมาะกับการที่จะมีตลาดที่พลุกพล่านด้วยผู้คนที่มาค้าขายสินค้ากันทั้งวันทั้งคืน


ขอขอคุณภาพจาก เว็บไซต์ www.gotonakhon.com และ คุณ พัฒนชัย ธีรพงส์พัฒนา
สนามหน้าเมือง
ในที่สุดก็ต้องให้เลิกไป แล้วจะเอาพ่อค้าแม่ค้า สินค้าที่ทำเงินทอง แหล่งกระจายสินค้าเกษตร ไปไว้ที่ไหน ในยุคนั้นเริ่มมีการดำหริขยายถนนออกไปนอกเมืองอีกแห่ง คือถนนพัฒนาคูขวาง ในปัจจุบัน แต่ยงัเป็นเพียงริเริ่มเป็นแนวถนน ช่วงนั้นมีคลองสายหนึ่งที่ขุดเชื่อมตั้งแต่โบราณ ระหว่างคลองหน้ากำแพงเมือง (คลองนครน้อย) ขุดเชื่อมไปสู่คลองราเมศวร (คลองท่าซัก) แต่ต่อมาไม่ได้ใช้สัญจรจึงเป็นคลองที่ตื้นเขิน จึงให้ย้ายตลาดจากหน้าเมืองมาใช้ที่ดินคูขวาง ย่านตรงนั้นจึงถูกเรียกกันต่อๆมาว่า“ตลาดคูขวาง” ส่วนตลาดสดเทศบาลที่เพิ่งรับการก่อสร้าง บนที่ดินของคุณจำเริญ ลิมปิชาติเมื่อ พศ.2519 คนทั่วไปก็เรียกตลาดสดเทศบาลว่า”ตลาดคูขวาง”ไปด้วย ทั้งที่ถนนหน้าตลาดสดเทศบาลเพิ่งได้รับการพัฒนาจากทางเดิน หรือถนนดินเพื่อใช้สัญจร ทางบกของชาวบ้านไปตำบลท่าซัก

ย้อนกลับไปเรื่องตลาดคูขวางที่ ถูกโยกย้ายมาจากตลาดคลองทาหรือตลาดยาว ไปตลาดหน้าเมืองและไปจบที่คูขวาง ซึ่งบริเวณนั้นเริ่มเป็นที่ทิ้งขยะของเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช แห่งใหม่ บริเวณนั้นคือ”ถนนพัฒนาคูขวาง”ปัจจุบัน บางส่วนเป็นทุ่งนา เป็นหนองน้ำ ที่เต็มไปด้วยต้นกก ต้นบอน และนำเน่า เป็นทั้งแหล่งเพาะยุง และแมลงวัน หลายชีวิตที่มาจากต่างอำเภอ เช่น ชะอวด เชียรใหญ่ หัวไทร ปากพนัง และ อีกหลายๆ แห่งรวมทั้งคนต่างจังหวัด เข้ามาทำมาหากิน อยู่ในตลาดยาวหรือตลาดคลองทา จนสุดท้ายก็ถูกย้ายไปอยู่อาศัย แถวที่ทิ้งขยะแห่งใหม่คือที่ย่านคูขวาง และจะเล่าให้ฟังว่า
ที่นั้น จะนั้งกินข้าวกลางวันแสกๆ ยังต้องกางมุ้ง ถามว่ายุงเยอะมากเหรอ คำตอบว่าไม่ใช่ กางมุ้ง เพื่อป้องกับแมลงวัน เพราะอยู่ ใกล้กองขยะของเทศบาล คนรุ่นแรกๆที่มาอยู่ที่นั้น มาตั้งแต่ พศ.2512 และปัจจุบันก็ยังคงอยู่ที่นั้น ก็มีแต่น้อยมาก

ตลาดคูขวางบนกองขยะแห่งใหม่ของเทศบาลจึงล้มเหลว ไม่มีพ่อค้าแม้ค้า หรือเกษตรกร มาใช้ตลาดกองขยะนั้นเลย

พ่อค้าแม่ค้า ชาวสวน ที่เคยค้าขายที่ตลาดคลองทา ก็เริ่มหาทำเลที่วางสินค้า แห่งใหม่ ที่ต้องอยู่นอกเขตเทศบาลและไม่ไกลตัวเมือง และก็ได้ที่ดินริมถนนนคร – บ้านตาล หรือถนนกะโรม ซึ่งเป็นถนนลาดยางแคบๆ แต่สะดวกในการลำเลียงสินค้าเกษตรจากสวน จากไร่ และจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัด แปลงหนึ่งเหมาะกับการเป็นตลาดแห่งใหม่ แม้จะไม่กว้างขวางมากนัก จึงเกิดตลาดค้าส่งสินค้าทางเษตรแห่งใหม่ขึ้น เมื่อ พศ.2513 ยุคนั้น มีรถยนต์ขนส่งขนาดเล็ก ยี่ห้อมาสด้า มาวิ่งรับส่งผู้โดยสาร และบรรทุกสินค้าการเกษตรจากสวนโดยเฉพาะทางอำเภอลานสกา พรหมคีรีท่าศาลา และจากต่างจังหวัดเช่นกระหลำปลีจากเพชรบูรณ์ จากเชียงราย และสินค้าทางเกษตร
ทางภาคกลาง เช่นมะม่วงจากเพชรบุรีราชบุรีและอื่นๆ ตลาดหัวอิฐกลายเป็นตลาดกลางทางเกษตรแห่งแรกๆของภาคใต้ที่กระจายสินค้าไป เกือบ ทั่วประเทศ

สภาพย่านนั้นยังไม่เจริญ แม้จะอยู่ติดเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช การคมนาคม
ยุคนั้นคือรถสามล้อปั่น แบบพ่วงข้าง เป็นส่วนใหญ่ สองฝั่งถนน บ้างก็เป็นสวนผลไม้บ้างก็เป็นแหล่งสลัม โดยเฉพาะจากสะพานท่าเรียน สะพานแดง ที่มีเพียงสะพานไม้เล็กๆ สองฝั่งถนนเป็นที่ลุ่มต่ำมาก ลึกต่ำกว่าถนนน่าจะราวๆ 3 – 5 เมตร ชาวบ้านเรียกแถบนั้นว่า “ทุ่งปรัง” ถึงฤดูนำหลากก็ราวๆ เดือนสิบสอง จะมีนำเต็มทุ่งกว้างใหญ่เมื่อเรายืนบนถนน จะมองเห็นไปถึงสะพานยาว ที่ทอดยาวด้วยแผ่น ไม้เก่าๆเป็นทางเดินแคบๆ กว้างไม่เกินสองเมตรจากริมรั้ววัดท่ามอญ ทอดข้ามทุ่งไปถึงตำบลนาเคียน ซึ่งย่านนาเคียนสวนใหญ่เป็นสวนส้มหัวจุก ปัจจุบันหาได้ยากแล้ว

สภาพเดิมของริมทาง สองข้างทาง ถนนกะโรม-ตลาดหัวอิฐที่สองข้างทางที่ลึกมาก ขอขอคุณภาพจาก เว็บไซต์ www.gotonakhon.com

ตรงข้ามตลาดหัวอิฐ เป็นที่ดินแปลงใหญ่ ที่เป็นแหล่งสลัม อยู่หน้าวัดหัวอิฐ มีคูดินตื้นๆ
ไปตามถนน และ เนื่องจากพื้นที่ในตลาดไม่กว้างใหญ่พอ ที่จะให้รถบรรทุกที่ขนส่งสินค้าจากต่างจังหวัด เช่นรถที่บรรทุกกระหล่ำปลี-พืชผัก และสินค้าเกษตรต่างๆจากหลายจังหวัดเข้าจอดในตลาดได้รถบรรทุกสินค้าเล่านั้น จึงจอดกันริมถนน โดยเอาหัวรถหันเข้าริมคู ท้ายรถที่จะขนส่งสินค้าลง หันไปทางถนน การซื้อขายก็ขายกันท้ายรถเป็นการขายส่งยกเข่ง แม่ค้าคนกลางบ้างก็จ้าง “รถรุน” เข็ญข้ามฟากเข้าในตลาดบ้าง วางขายริมถนน แถบนั้นบ้าง ตลาดแห่งนี้”ไม่มีเวลาหลับ” เพราะขายกันทั้งวันทั้งคืน แล้วแต่จังหวะ
รถบรรทุกสินค้าเข้ามาถึง น่าจะนับว่าเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตรแห่งแรกของบ้านเมืองเรา ซึ่งเกิดก่อน ตลาดไท(ตลาดที่กทม.) หลายปี

ขอขอคุณภาพจาก เว็บไซต์ www.gotonakhon.com
ตลาดแห่งนี้สร้างอาชีพให้ชาวบ้าน ที่มุ่งหน้ามาหาเงินหางาน หาอาชีพ จากทั่วสารทิศ
และมีไม่น้อยที่มาปักหลักเป็นคนนคร(เป็นคนเมืองคอน) มีคนในชนบทที่ยากจนไม่น้อย สร้างเนื่อสร้างตัว มีฐานะทางการเงิน ซื้ออาคารพานิชย์ที่มีราคาแพง ในย่านนั้น ซื้อที่ดิน ปลูกสร้างบ้าน และกระทั่งสร้างตลาดแห่งใหม่ขึ้นมา สร้างห้องเย็น มีทุนสร้างบ้านจัดสรรกล่าวได้ว่ามองไปทางไหนก็เห็นเป็นเงินไปหมด ย่านบ้านหัวอิฐจึงคึกคัก เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทางแขวงการทางมองเห็นความจำเป็นในการขยายเส้นทางจราจรออกไป เป็นถนนคอนครีต สี่เลน มีเกาะกลางถนนที่กว้างปลูกหญ้าปลูกต้นไม้เป็นสายแรกๆ ของเมืองนคร ทำให้มีการขยายบ้านเมือง สร้างความเจริญออกไปทางตะวันตก
ยุคแรกๆที่เกิดตลาดขึ้นมา ก็มีอาชีพใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น การมีชั่งของคนกลาง
เป็นการรับชั่งสินค้าในการซื้อขาย ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ที่ไม่มั่นใจในตราชั่งของอีกฝ่าย หรือ ผู้ขายและผู้ซื้อไม่มีชั่ง ก็เช่าชั่งกลาง ที่มีอยู่ทั่วไป หลายเจ้าที่ให้บริการ โดยคิดค่าชั่งเป็นกิโลกรัม ในราคาไม่สูง ส่วนค่าใช้จ่ายจะเป็นของฝ่ายใดก็แล้วแต่จะตกลงกัน เจ้าของชั่งกลางที่วิ่งให้บริการ มีรายได้ไม่น้อย เพราะสินค้าที่ซื้อขายกันแต่ละครั้งนับเป็นสิบเป็นร้อยกิโลกรัมก็มีเพราะเป็นการขายส่งจากต้นทางสู่พ่อค้าคนกลาง ผู้ทำหน้าที่กระจ่ายสินค้าไปสู่ตลาดหัวอิฐ และจากตลาดหัวอิฐไปสู่ตลาดอื่นๆทั่วภาคใต้ก็น่าจะว่าได้
อาชีพที่เกิดใหม่ในสมัยนั้นคือ รถรับจ้างรุนของ เป็นภาษาท้องถิ่นทางปักษ์ใต้หมายถึง
รถล้อเลื่อน บรรทุกสินค้า ขับเคลื่อนไปโดยแรงคน ซึ่งอาจใช้กำลังคนหนึ่งคนหรือสองคน ลักษณะคล้ายเกวียน ที่มีล้อสองล้อรถจักรยานต์หรือล้อแบบกงล้อเกวียน ซึ่งมีการประกอบสร้างขึ้นมาเพื่อ
ให้แรงงานที่รับจ้างขนสินค้ามาเช่า เป็นรายวัน รายคืน มีรถประเภทนี้จำนวนไม่น้อย

ขอขอคุณภาพจาก เว็บไซต์ www.gotonakhon.com

เพราะขนส่งสินค้าไม่ไกลนัก อาจส่งที่แผงในตลาด หรือส่งถ่ายสินค้าขึ้นรถ อื่นที่บรรทุกสินค้าไปต่างอำเภอหรือต่างจังหวัด ตลาดแห่งนี้จึงเป็นตลาดที่สร้างงานให้คนอีกไม่น้อย
และมีอาชีพอีกอาชีพหนึ่ง ที่เกิดใหม่ในยุคนั้น ปัจจุบันไม่มีแล้ว คือ การรับหาสินค้าพื้นเมือง โดยเฉพาะพืชผลไม้และแม้แต่เป็ด-ไก่ ที่ชาวบ้านมัดขาด้วยเชือกกล้วยแล้วแขวนหรือให้นอนอยู่บริเวณบันไดทางขึ้นรถยนต์ขนส่งขนาดเล็ก ยุคนั้นนิยมกันมากคือรถยนต์ยี่ห้อมาสด้า แปดแรงม้า นำมาต่อตัวถังรับได้ทั้งโดยสารและสินค้า นอกจากอัดแน่นในตัวถังรถแล้ว ยังล้นขึ้นเต็มหลังคารถยนต์ การใช้รถยนต์คันเล็กนอกจากราคาที่ชาวบ้านพอสู้ได้ยังสามารถเข้าถึงเลือกสวนที่เป็นเพียงทางเล็กๆและแคบอาชีพนี้หากเปรียบกับยุคปัจจุบันน่าจะเข้าอยู่ในประเภท “เซลล์” ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนหนุ่มที่ค่อนข้างแข็งแรงเพราะนอกจากโหนรถได้นาน บางครั้งก็ต้องวิ่งเหยาะๆเทียบเคียงรถ ไปพร้อมกับพูดคุยถึงประเภทสินค้า ที่รถบรรทุกมา ตกลงซื้อขายกันไปในจังหวะที่วิ่งหรือโหนรถไป คนเหล่านี้คือนายหน้าจัดหาสินค้าจากนคร ส่งขึ้นรถบรรทุกสิบล้อ หรือรถหกล้อ ที่มาส่งสินค้าขายให้พ่อค้าแม่ค้าตลาดหัวอิฐและหากไม่หาสินค้าทางปักษ์ใต้บรรทุกกลับไป ก็ต้อง “ตี” รถเปล่ากลับ จึงต้องหาสินค้าเป็นพืชผล หรืออื่นๆทุกชนิดที่เอากลับไปขายที่จังหวัดอื่นๆ ที่เรียกกันว่าไม่เสียเที่ยว วิ่งรถเปล่ากลับ”เซลล์”ที่จัดหาสินค้าก็ต้องแข่งขันกันจัดหาสินค้าให้ได้มากที่สุด ของรถบรรทุกหลายคันที่จอดรอหน้าตลาดหัวอิฐ ดังนั้น ชายฉกรรจ์เหล่านั้นจึงต้องทำงานแข่งขันกัน โดยจะไปรอรับรถจากชาวสวนถึงสี่แยกเบญจมฯ ระยะทาง ประมาณห้ากิโลเมตร ตั้งแต่เย็น จนถึงมืดคำ รับ ค่าจ้างค่าจัดหาสินค้าแล้วแต่ข้อตกลงอาจคิดเป็นน้ำหนักหรือปริมาณของสินค้า

ขอขอคุณภาพจาก เว็บไซต์ www.gotonakhon.com
ยังมีอีกอาชีพที่แทบจะไม่ต้องลงทุนลงแรง แค่ไปยืนสังเกตุการณ์ในบริเวณหน้าตลาดหลังรถส่งสินค้า ซึ่งเป็นที่พ่อค้าแม่ค้าขายส่ง มาวางเข่งสินค้าของตน พอสายๆหน่อยก็อาจได้งานได้เงินแล้วกลุ่มเหล่านี้น่าจะเรียกว่า “แม่ค้า สวมรอย” เพราะไม่ได้ลงทุนซื้อสินค้ามาขาย ทั้งไม่ใช่ เจ้าของสินค้าด้วยเพียงยืนสังเกตุการณ์เฝ้าดูสินค้าที่วางเป็นเข่ง เป็นกอง ที่แม่ค้าตัวจริงขนมาขายส่งสู่มือที่สามที่สี่ เมื่อขายไปส่วนใหญ่แล้วเหลือสินค้าเข่งสองเข่ง เรียกว่าได้กำไรคุ้มแล้ว และลูกค้าเริ่มวายถ้าจะเฝ้ารอเพื่อขายสินค้าให้หมด ก็เสียเวลาเพราะต้องกลับเคหะที่พักตนเองแล้วหลังจากเหนื่อยมาทั้งคืน ครั้นจะขนกลับแค่นิดหน่อยไม่คุ้มค่าขนส่ง จึงวางทิ้งสินค้านั้นไปเลย ก็จะมีแม่ค้าสวมรอย เข้ามาเฝ้าขายต่อโดยไม่ต้องใช้เงินซื้อ เช้าขึ้นมา จะมีลูกค้าอีกประเภทหนึ่งคือซื้อย่อยไปขายต่อเล็กๆน้อยๆตามตลาดนัดหรือตลาดเล็กๆในท้องถิ่น หรือร้านอาหารหรือชาวบ้านทั่วไป “แม่ค้าสวมรอย” ก็แสดงตัวเป็นเจ้าของสินค้า ด้วยราคาต่ำกว่าราคาตลาดเล็กน้อย เพราะไม่ต้องลงทุน และลงแรงเลย ก็ว่าได้อาชีพนี้ไม่ถือว่าผิดศิลธรรม เพราะไม่ได้ลักขโมย ของใครก็หาเงินเลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัวอีกแบบหนึ่งในตลาดหัวอิฐ
ยังครับยังมีอีกอาชีพที่สุจริตของคนมีทุนน้อย หรือไม่มีทุนทรัพย์จากชนบทที่เข้ามาทำมาหากินในยุคเปิดตลาดกลาง“หัวอิฐ” ยุคแรกๆ คนจำนวนมากจากชนบท เดิมเป็นชาวนาบ้าง ชาวไร่บ้างอาชีพเลื่อนลอยบ้าง ก็มุ่งหน้าเข้าเมืองหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น จะมีงานมีเงินใช้เพราะอยู่ชนบทบ้านนอกมันฝืดเคืองลูกหลานแทบไม่ได้รับการศึกษาเต็มที่ ส่วนใหญ่ก็แค่ประโยคประถมศึกษา ก็นับว่าดีที่สุดแล้ว จึงมุ่งหน้าเข้าเมือง เริ่มจากทำมาหากินในตลาด คลองทาหรือตลาดยาว บางคนเริ่มด้วยการขนน้ำ จากวัดมาขายให้แม่ค้าพ่อค้า บ้านเรือนใกล้ๆที่มีที่ทางพอก็สร้าง ห้องอาบน้ำ ห้องสุขาบริการเพราะยุคนั้นราชการไม่ได้ดูแล เพราะเป็นตลาดที่เกิดโดยธรรมชาติจากผู้ผลิตผลจากสวนไร่นาและค่อยๆขยายตัวจากการประกอบอาชีพที่ชุมชนต้องการ เช่นการทำอาหาร ข้าวแกง น้ำดื่ม เร่ขายมีพ่อค้าเสื้อผ้า ผ้าตัดเสื้อ กางเกง ก็มากองขาย อาชีพหลากหลายก็เกิดขึ้นจากการพัฒนาแบบชาวบ้านๆ และสุดท้ายไปสู่ ”ตลาดหัวอิฐ“ ตามที่เล่ามาตามลำดับ

มีอีกอาชีพที่คนไม่มีทุนรอนจะไปซื้อหาสินค้ามาขาย คือกลุ่มคนจำนวนไม่น้อย ที่นอกจากรับจ้าง เป็นกรรมกรขนสินค้า ยังมีพืชผักที่เริ่มเน่าหรือแห้งเหี่ยว ไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจึงถูกคัดทิ้ง แต่มันยังมีคุณค่าในสายตาของคนที่ไม่มีทุน พวกเขาจึงเก็บเอามาตกแต่ง ลอกเอาส่วนนอกที่เน่าเสียทิ้งไป ก็ยังมีส่วนด้านในที่ยังไม่เหี่ยวแห้งแม้มันจะเล็กลง ก็ได้สิ้นค้าอีกเกรด มาวางขาย
ปลีกในราคาที่ย่อมเยาว์ซึ่งก็เป็นที่นิยมของลูกค้าไม่น้อย เพราะราคาถูกและยังบริโภคได้คนที่คิดประหยัดก็เป็นลูกค้าประจำ สินค้าเหล่านี้จึงยังทำรายได้ให้แม่ค้ามือสามมือสี่ได้พอควรและปัจจุบันตลาดหัวอิฐ ยังคงเป็นที่จับจ่าย ซื้อขายกันจนปัจจุบัน เป็นเวลานานกว่าห้าสิบปีแล้ว แม้จะเปลี่ยนรูปแบบการทำมาค้าขายไปจากเดิมบ้าง แต่คนรุ่นที่เข้ามาเป็นส่วนร่วมในการสร้างตลาด ตั้งแต่ผู้ค้า กรรมกร เข็นรถขนส่งสินค้า คนรับจ้างแบกหาม ลูกจ้างของพ่อค้าแม่ค้า และ”เซลล์”ที่วิ่งหาสินค้ามาป้อน ล้วนแต่ตั้งตัวมีทรัพย์มีบ้าน มีร้านค้า และบางคนก็ยังมีเงินซื้อที่ดินสร้างเป็นตลาดของตัวเองด้วย ดังนั้น ย่านหัวอิฐจึงมีตลาดหลายแห่งในละแวก ใกล้เคียงกันครับ…คือที่มาจากตลาดยาวหรือตลาดคลองทา ไปสู่ “ตลาดหัวอิฐ” ต้นแบบการแลกเปลี่ยนและกระจายสินค้า แห่งแรกๆ ….
อนันต์ สิงหโกวินท์ เล่าเรื่อง
15 กันยายน 2567

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *